วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555

ศัพท์ที่ใช้ในร้านอาหาร

จะแวะมาเที่ยวอเมริกาไม่กี่วัน หรือจะมาอยู่นานหลายปี ก็คงได้เข้าไปกินข้าวในร้านอาหารบางแห่งเป็นแน่ วันนี้เลยอยากเสนอคำศัพท์ วลี และประโยคที่ได้เจอแน่ๆ นะคะ (ถ้าทำงานในร้านอาหารที่อเมริกา ก็อาจได้ใช้เช่นกันค่ะ)

เดินเข้าร้านปุ๊บก็จะเจอพนักงานมาต้อนรับทักทาย hi, how are you today? แต่เขาจะไม่ฟังคำตอบว่าจะป่วยหรือจะตายหรอกนะคะ เดาว่าเดินมาหาอะไรกินได้ คงสบายดี เขาก็ถามต่อไปว่า มากันกี่คน how many (persons)? ถ้าร้านที่มีลานกลางแจ้ง (patio) เขาก็จะให้เลือกว่าจะนั่งข้างในหรือข้างนอก would you like to be indoor or outdoor/patio?
พอพาไปนั่งโต๊ะเสร็จ เด็กเสริ์ฟ (server) ก็จะมาถามว่าจะดื่มอะไร what would you like to drink? หรือ  May I get you something to drink? บางแห่งก็จะบอกว่าวันนี้มีรายการพิเศษอะไรบ้าง Today’s Special เพื่อให้เราคิดไประหว่างเขาไปหยิบน้ำ
หากจะแยกกันจ่าย (American share) แบบบิลใครบิลมัน ก็ให้บอกคนเสริ์ฟตั้งแต่ก่อนสั่งอาหาร separate check, please ร้านเอเชียนบางแห่ง โดยเฉพาะแถวๆ โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย จะไม่ยอมให้แยกบิลค่ะ ให้ลูกค้าไปคำนวนเอาเอง (ก็แหม มีปัญญาเรียน คิดเลขแค่นี้คงทำได้แน่) หรือหากมีคูปองลดราคา ได้โปรโมชั่นพิเศษ ก็ควรบอกเด็กเสริ์ฟไว้ตั้งแต่ต้นเช่นกันค่ะ
พอเขามาเสริ์ฟเครื่องดื่มแล้ว ก็จะถามว่าจะสั่งของว่างไหม Any appetizer for today? ถ้าไม่เอาก็บอกว่าขอสั่งจานหลัก entree/ main dish เลยล่ะกัน จะเอาอะไรก็ว่าไป จิ้มไปที่รูปหรือบอกเป็นหมายเลขของรายการในเมนู ให้แน่ใจว่าได้อย่างที่ต้องการก็ดีค่ะ
กินๆ อยู่ก็จะมีพนักงานมาถาม (หลายครั้งชอบมาตอนกำลังก้มหน้าก้มตากิน หรืออาหารกำลังเต็มปาก พูดไม่ออก) ว่าเป็นอย่างไรบ้าง อร่อยไหม ทุกอย่างดีใช้ได้หรือเปล่า Is everything all right? หรือ Do you like it? หรือ How is your food? (หากเป็นคนเสริ์ฟ ต้องพยายามออกเสียงตัว d ลงท้ายให้ชัดนะคะ ไม่งั้นเป็น foot ไป เขาตกใจ ตอบกลับมาว่าเป็นฮ่องกงฟุตล่ะก็ เราจะตกใจกว่า)
กินใกล้เสร็จ เขาก็จะมาวางบิลเลยค่ะ ไม่ต้องสะดุ้งไป เขาไม่ได้ไล่ เป็นธรรมเนียมที่อเมริกา ที่ที่คนเร่งรัดรีบร้อน เวลาเป็นเงินเป็นทอง เขาจะให้ก่อนที่ลูกค้าจะเรียกขอบิล แต่ถ้าจะไปแล้วก็เรียกเก็บเงินได้ค่ะ Check, please. (บางทีก็ใช้คำว่า bill หรือ ticket ศัพท์วัยรุ่นหน่อยก็ใช้คำว่า tab ค่ะ)
หากมีอาหารเหลือก็ขอกล่องใส่กลับบ้านได้นะคะ May I have a ‘to go’ box? คนที่นี่เหลือนิดเหลือหน่อยก็เอากลับบ้านกัน ฉะนั้นคนเสริ์ฟก่อนจะเก็บจานออกจากโต๊ะ จะถามก่อนเสมอว่ากินเสร็จหรือยัง Are you done? ถ้ากินอยู่ก็บอก I’m still working on it ถ้ากินเสร็จแล้วก็  I’m done เอาจานออกไปได้เลย You can take it  หรือจะเลื่อนจานไปไว้ข้างๆ ริมโต๊ะก็ได้ค่ะ จะเป็นสัญญาณที่รู้กันว่าจานนี้กินเสร็จแล้ว เก็บไปได้เลย
ร้านอาหารที่อเมริกา มีที่ไม่เหมือนเมืองไทยนิด ตรงที่คนเสริ์ฟจะโต๊ะใครโต๊ะมัน เรียกใช้เฉพาะคนที่มาแนะนำตัวกับเรา หรือถามหาให้ถูกคน May I have my server? หรือ Are you my server? เวลาเรียกก็แค่ยกมือขึ้นนิดๆ พูดว่า Excuse me ไม่ควรตะโกน ไม่ควรโบกมือไปมานะคะ (ขนจั๊กกะแร้จะลอยออกมาได้ หมดอร่อยพอดี)
และที่อเมริกานี้ จะต้องให้ค่าบริการอย่างน้อย 10-20% ของยอดรวมค่ะ ถ้าไม่อยากจ่ายก็สั่ง to go กลับบ้าน ถ้านั่งในร้านก็คือธรรมเนียมที่ต้องจ่ายค่ะ ถ้ารูดบัตรเครดิตจะมีช่องให้ใส่จำนวนทิป ก็เขียนตัวเลข และรวมยอดทั้งหมด พร้อมเซ็นต์ลายเซ็นต์กำกับค่ะ ถ้าจ่ายเงินสด จะเอาเงินทอนก็บอก I need some change,please ถ้าให้ไปพอดีรวมทิปแล้ว ก็พูดว่า It’s all yours
จะกินที่ไหน ก็ขอให้กินอาหารให้อร่อยนะคะ Enjoy your meal ค่ะ

วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2555

เวลาเปลี่ยน ...หรือ...เปลี่ยนเวลา

อเมริกานั้นหนอ ช่างกว้างไกลนัก ใครบางคนอาจเคยตกเครื่องบินหรือพลาดรถไฟเวลาเดินทางข้ามรัฐในอเมริกา หรือบางครั้งจะโทรติดต่อต่างรัฐ โทรไปปรากฎยังไม่เปิดทำการ หรือจะดูรายการถ่ายทอดสด ก็อดดูเพราะฉายจบไปแล้ว
นั่นก็เพราะประเทศอเมริกาที่กว้างใหญ่ กินพิ้นที่ค่อนทวีปนั้น มีเขตเวลา Time Zones หลัก ๆ ใช้บ่อย ๆ ในชีวิตประจำวันถึง 4 เขต หากรวมฮาวาย Hawaii อลาสก้า Alaska และเกาะต่าง ๆ เช่น เปอร์โตริโก้ กรวม เข้าไปอีกก็เป็น 9 เขตเวลาเชียวค่ะ
http://www.timetemperature.com/tzus/time_zone.shtml
เขตเวลาบนแผ่นดินใหญ่ 4 เขตนั้น ไล่จากตะวันออกมาตะวันตก ได้แก่ Eastern, Central, Mountain and Pacific Standard Time  (EST, CST,MST,PST)
Eastern Time เป็นเวลาของรัฐทางชายฝั่งตะวันออก (East coast) เช่น เมนน์ (Maine) นิวยอร์ก (New York) นอร์ท แคโรไลน่า (North Carolina) ฟลอริด้า (Florida) ไล่ไปถึงด้านในหน่อย เช่น โอไฮโอ (Ohio) และบางส่วนของแคนตักกี้ (Kentucky) กับอินเดียนน่า (Indiana)
Central Time เป็นเวลาของรัฐกลางประเทศ (mid-west) เขตพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งมีท้องทุ่งเพาะปลูกกว้างสุดหูสุดตา  เช่น รัฐอาคัสซอ (Arkansas) แทกซัส (Texas) แคนซัส (Kansas) นอร์ท/เซ้าท์ ดาโกต้า (North/South Dakota)
Mountain Time เป็นเวลาของรัฐที่มีภูเขาวิวสวยๆ แบบในหนังพระเอกขี่ม้า นางเอกเป็น cowgirl โรแมนติกใต้อาทิตย์อัสดงให้อิจฉา เช่นรัฐมอนตาน่า (Montana) ไวโยมมิ่ง (Wyoming) โคโรลาโด (Colorado) นิว แมกซิโก ( New Mexico ชื่อคล้ายประเทศแมกซิโก แต่เป็นรัฐหนึ่งของประเทศอเมริกานะคะ ระวังสับสน)
Pacific Time เป็นเวลาของรัฐทางฝั่งทะเลแปซิฟิค เช่น แคลิฟอร์เนีย (California)ออร์เรกอน (Oregon) วอชิงตัน (Washington ชื่อคล้ายเมืองหลวงซึ่งอยู่ทางตะวันออก Washington D.C. ต้องอย่าสับสนชื่อเมืองกับชื่อรัฐนะคะ) และรวมมาถึงรัฐเนวาดา (Nevada) ด้วยค่ะ
ยังงง ๆ อยู่ใช่ไหมค่ะ ต่อให้งงเพิ่มขึ้นไปอีกหน่อย ด้วย Day Light Saving Time (DST) คนไทยที่มาจากประเทศที่มีสองฤดู ร้อนกับฝน (หรือร้อนกับร้อนมาก ๆ ) ไม่ใช่สี่ฤดูแบบต่างประเทศนั้น จะมึนกับ DST ทีเดียวค่ะ สามีอยู่เมกามาจนแก่ (แก่ลง ยังไม่แก่มาก)ฮ่าๆๆๆ ก็ยังไม่ชินเลยค่ะ
Day Light Saving Time เป็นการขยับปรับเปลี่ยนเวลาตามแสงอาทิตย์ ในฤดูใบไม้ผลิ (Spring) เริ่มที่ประมาณกลางเดือนมีนาคม (second Sunday of March) จะเวลาเร็วขึ้น 1 ชั่วโมง เพื่อผู้คนจะได้มีช่วงกลางวันนานขึ้น และไปปรับกลับคืนช่วงก่อนเข้าฤดูหนาว ต้นเดือนพฤศจิกายน (first Sunday of November) ซึ่งมีช่วงแดดออกสั้นลง
ช่วงเริ่มและหมด DST จะเป็นช่วงหนึ่งที่ค่อนข้างสับสน นาฬิกาบางเรือนฉลาดหน่อย ก็ปรับตามให้อัตโนมัติ บางเรือนก็รอเจ้าของมาปรับให้ตรง เราเองก็ต้องคอยดูปฎิทินหรือฟังข่าว ช่วยลดความงงลงนะคะ
ที่ทำให้งงวยไปได้อีกหลายตลบ คือ ถ้าใครอยู่รัฐ “อริโซน่า” Arizona เป็นรัฐเดียวที่ไม่มี day light saving ค่ะ เพราะแสงแดดส่องสว่าง 360 วันต่อปี แต่ละฤดู พระอาทิตย์ขึ้น-ลงไม่ต่างกันมากนัก ดังนั้นปกติจะเป็นช่วง mountain time แต่พอเข้าช่วงที่ทั้งประเทศปรับ day light saving ก็จะเป็น Pacific time ค่ะ สรุปว่า บางทีเวลาก็เร็วกว่ารัฐแคลิฟอร์เนีย 1 ชั่วโมง บางทีก็เท่ากัน
ฉะนั้น จะเดินทางไปไหนในอเมริกา ต้องรู้เวลาท้องถิ่นให้ดีนะคะ หมั่นดูนาฬิกาสาธารณะ และหากจะดูรายการถ่ายทอดสด ก็ดูด้วยว่าเป็นเวลาฉายของเขตเวลาไหน ส่วนใหญ่จะเป็น EST (Eastern Standard Time) นะคะ
เรื่องเวลาในอเมริกานี้ คงสรุปได้อย่างที่คนไทยคนหนึ่งกล่าวไว้ “ชีวิตในอเมริกานั้นมันไม่ง่าย ทันทีที่เหยียบย่างลงบนแผ่นดินนี้ เวลาในชีวิตเธอก็เปลี่ยนไป”
have a good time naka