วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2555

เวลาเปลี่ยน ...หรือ...เปลี่ยนเวลา

อเมริกานั้นหนอ ช่างกว้างไกลนัก ใครบางคนอาจเคยตกเครื่องบินหรือพลาดรถไฟเวลาเดินทางข้ามรัฐในอเมริกา หรือบางครั้งจะโทรติดต่อต่างรัฐ โทรไปปรากฎยังไม่เปิดทำการ หรือจะดูรายการถ่ายทอดสด ก็อดดูเพราะฉายจบไปแล้ว
นั่นก็เพราะประเทศอเมริกาที่กว้างใหญ่ กินพิ้นที่ค่อนทวีปนั้น มีเขตเวลา Time Zones หลัก ๆ ใช้บ่อย ๆ ในชีวิตประจำวันถึง 4 เขต หากรวมฮาวาย Hawaii อลาสก้า Alaska และเกาะต่าง ๆ เช่น เปอร์โตริโก้ กรวม เข้าไปอีกก็เป็น 9 เขตเวลาเชียวค่ะ
http://www.timetemperature.com/tzus/time_zone.shtml
เขตเวลาบนแผ่นดินใหญ่ 4 เขตนั้น ไล่จากตะวันออกมาตะวันตก ได้แก่ Eastern, Central, Mountain and Pacific Standard Time  (EST, CST,MST,PST)
Eastern Time เป็นเวลาของรัฐทางชายฝั่งตะวันออก (East coast) เช่น เมนน์ (Maine) นิวยอร์ก (New York) นอร์ท แคโรไลน่า (North Carolina) ฟลอริด้า (Florida) ไล่ไปถึงด้านในหน่อย เช่น โอไฮโอ (Ohio) และบางส่วนของแคนตักกี้ (Kentucky) กับอินเดียนน่า (Indiana)
Central Time เป็นเวลาของรัฐกลางประเทศ (mid-west) เขตพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งมีท้องทุ่งเพาะปลูกกว้างสุดหูสุดตา  เช่น รัฐอาคัสซอ (Arkansas) แทกซัส (Texas) แคนซัส (Kansas) นอร์ท/เซ้าท์ ดาโกต้า (North/South Dakota)
Mountain Time เป็นเวลาของรัฐที่มีภูเขาวิวสวยๆ แบบในหนังพระเอกขี่ม้า นางเอกเป็น cowgirl โรแมนติกใต้อาทิตย์อัสดงให้อิจฉา เช่นรัฐมอนตาน่า (Montana) ไวโยมมิ่ง (Wyoming) โคโรลาโด (Colorado) นิว แมกซิโก ( New Mexico ชื่อคล้ายประเทศแมกซิโก แต่เป็นรัฐหนึ่งของประเทศอเมริกานะคะ ระวังสับสน)
Pacific Time เป็นเวลาของรัฐทางฝั่งทะเลแปซิฟิค เช่น แคลิฟอร์เนีย (California)ออร์เรกอน (Oregon) วอชิงตัน (Washington ชื่อคล้ายเมืองหลวงซึ่งอยู่ทางตะวันออก Washington D.C. ต้องอย่าสับสนชื่อเมืองกับชื่อรัฐนะคะ) และรวมมาถึงรัฐเนวาดา (Nevada) ด้วยค่ะ
ยังงง ๆ อยู่ใช่ไหมค่ะ ต่อให้งงเพิ่มขึ้นไปอีกหน่อย ด้วย Day Light Saving Time (DST) คนไทยที่มาจากประเทศที่มีสองฤดู ร้อนกับฝน (หรือร้อนกับร้อนมาก ๆ ) ไม่ใช่สี่ฤดูแบบต่างประเทศนั้น จะมึนกับ DST ทีเดียวค่ะ สามีอยู่เมกามาจนแก่ (แก่ลง ยังไม่แก่มาก)ฮ่าๆๆๆ ก็ยังไม่ชินเลยค่ะ
Day Light Saving Time เป็นการขยับปรับเปลี่ยนเวลาตามแสงอาทิตย์ ในฤดูใบไม้ผลิ (Spring) เริ่มที่ประมาณกลางเดือนมีนาคม (second Sunday of March) จะเวลาเร็วขึ้น 1 ชั่วโมง เพื่อผู้คนจะได้มีช่วงกลางวันนานขึ้น และไปปรับกลับคืนช่วงก่อนเข้าฤดูหนาว ต้นเดือนพฤศจิกายน (first Sunday of November) ซึ่งมีช่วงแดดออกสั้นลง
ช่วงเริ่มและหมด DST จะเป็นช่วงหนึ่งที่ค่อนข้างสับสน นาฬิกาบางเรือนฉลาดหน่อย ก็ปรับตามให้อัตโนมัติ บางเรือนก็รอเจ้าของมาปรับให้ตรง เราเองก็ต้องคอยดูปฎิทินหรือฟังข่าว ช่วยลดความงงลงนะคะ
ที่ทำให้งงวยไปได้อีกหลายตลบ คือ ถ้าใครอยู่รัฐ “อริโซน่า” Arizona เป็นรัฐเดียวที่ไม่มี day light saving ค่ะ เพราะแสงแดดส่องสว่าง 360 วันต่อปี แต่ละฤดู พระอาทิตย์ขึ้น-ลงไม่ต่างกันมากนัก ดังนั้นปกติจะเป็นช่วง mountain time แต่พอเข้าช่วงที่ทั้งประเทศปรับ day light saving ก็จะเป็น Pacific time ค่ะ สรุปว่า บางทีเวลาก็เร็วกว่ารัฐแคลิฟอร์เนีย 1 ชั่วโมง บางทีก็เท่ากัน
ฉะนั้น จะเดินทางไปไหนในอเมริกา ต้องรู้เวลาท้องถิ่นให้ดีนะคะ หมั่นดูนาฬิกาสาธารณะ และหากจะดูรายการถ่ายทอดสด ก็ดูด้วยว่าเป็นเวลาฉายของเขตเวลาไหน ส่วนใหญ่จะเป็น EST (Eastern Standard Time) นะคะ
เรื่องเวลาในอเมริกานี้ คงสรุปได้อย่างที่คนไทยคนหนึ่งกล่าวไว้ “ชีวิตในอเมริกานั้นมันไม่ง่าย ทันทีที่เหยียบย่างลงบนแผ่นดินนี้ เวลาในชีวิตเธอก็เปลี่ยนไป”
have a good time naka

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น